4/4/60

วิเคราะห์สภาวะราคากุ้ง 03-04-2017 by Soraphat

04-04-2017

สวัสดีครับ เพื่อนๆชาวนากุ้งทุกท่าน

               วันนี้เบื้องต้นผมว่าจะคุยกันต่อเรื่องมาตรา 9 แต่เมื่อเห็นราคากุ้งที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ หลายๆคนเริ่มที่จะขวัญเสีย มองทิศทางด้านราคาไม่ออกเริ่มมึนๆกับสถานการณ์ในขณะนี้ ผมก็ได้ไปเจอบทความของน้องตู่เค้าในเฟสบุ้ค ซึ่งเป็นบุคคลคุ้นหน้าในวงการกุ้งที่ตระเวณไปดูแลแวะเยี่ยมชมฟาร์มทั่วเอเชียได้มาเคราะห์ถึงสถานการณ์ของสภาวะกุ้งช่วงนี้ว่าเป็นอย่างไรเราไปดูกันครับ
                      ผมผ่านตาเห็นข้อความเต็มเฟซ เรื่องราคากุ้งตกต่ำ ผมจึงลองเช็คข้อมูลราคากุ้งที่อื่นดู ปรากฏว่า อินเดีย เวียดนาม เวลานี้ ราคาต่ำกว่าไทย มีอินโดที่สูงกว่า (ปีที่แล้วเสียหายหนักมาก ลากมาทำให้หวาดระแวงไม่กล้าลุยกันต่อในปีนี้) แต่ทั้งสามประเทศนี้ ช่วงนี้ไม่มีกุ้งเลย เลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติม พอจะสรุปได้ว่า ราคาตกต่ำนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในดังที่หลายๆ ท่านคาดกัน    ที่ว่าห้องเย็นกดราคา ซึ่งผมอาจจะผิดก็ได้ ฝากทุกท่านที่อ่านลองพิจารณากันดูครับ ปัจจัยที่ผมพบมามีดังนี้ครับ
               1. ภาวะปั่นกระแสสงครามโลกเพื่อหนีหนี้และขายอาวุธ เข้มข้นขึ้นมาตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา จากสงครามตัวแทน ตอนนี้มีแนวโน้มปะทะตรง มีการท้าทาย และพูดถึงการเพิ่มแสนยานุภาพนิวเคลียร์ การพัฒนาอาวุธเพื่อเตรียมรับสงครามกันอย่างชัดเจนมากที่สุด  ในช่วงสี่สิบปีประเทศผู้ซื้อกุ้งเราหลักๆ คืออเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ทั้งสามประเทศนี้ อยู่ในภาวะปั่นป่วนอย่างหนัก อเมริกามีคนว่างงานร่วม 80 ล้านคนจากการประกาศของทรัมป์เอง ยุโรป ชักศึกเข้าบ้าน ไม่ได้เป็นเมืองสวรรค์ดังที่เราเคยรู้ มีการก่อการร้ายเกิดขึ้นตลอด เป็นช่วงที่ระส่ำระสายที่สุด มีโอกาสถึงขั้นล่มสลาย และเป็นแนวรับที่น่าจะเป็นจุดกำเนิดสงครามโลกครั้งที่สาม หากจะมีเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
                จีนเอง เร่งต่อเรือรบลำใหม่ให้เสร็จภายในเดือนหน้า เตรียมพร้อมป้องกันน่านน้ำ ไม่นับ ทุนมหาศาลที่ลงไปกับการเตรียมไซเบอร์ยุทโธปกรณ์ และดาวเทียมทางยุทธศาสตร์นับหมื่นดวงพร้อมสุดยอดเทคโนโลยีระดับเหนือจินตนาการอีกมากญี่ปุ่น รู้ตัวดีว่าต้องเป็นตัวแทนสงครามในฐานะกันชนหน้าให้อเมริกา รวมทั้งเศรษฐกิจที่ดิ่งเหวติดดินมานาน
               สรุป ความหวาดระแวงในสงครามและปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ลูกค้าผู้กินกุ้งในชาติเหล่านี้ มีกำลังซื้อน้อยลง และใช้เงินเท่าที่มีไปเพื่อการอยู่รอดหากเกิดสงครามมากกว่าจะเน้นเรื่องปากท้องครับ ทำให้แรงซื้อฝืดไปมาก กำลังซื้อกุ้งใหญ่จึงตก กำลังซื้อของพรีเมี่ยมจึงลดลง

               2. ประเทศคู่แข่งเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น แต่ห้องเย็นไม่พอรองรับจึงมีช่วงของทะลัก ฉุดราคาปากบ่อในแต่ละล้อคไซส์ ประเทศหนึ่งๆ มีช่วงของทะลักราวสองครั้งต่อปี มีอย่างน้อยสามประเทศที่มีภาวะนี้ นั่นแปลว่า โดยเฉลี่ยทุกสองเดือนจะมีช่วงราคาถูกฉุดต่ำลงและถูกนำมาเป็นราคาอ้างอิงด้วยระบบการสื่อสารที่ถึงกันหมดในพริบตา ทำให้คนอีกฟากโลกรู้ราคาปากบ่อของประเทศที่กุ้งล้นและเอามาเป็นราคาฐานอ้างอิงในการต่อรอง ทำให้ห้องเย็นไทยเองก็เผชิญหน้ากับการค้าขายที่ยากลำบากขึ้นกว่าเก่าแต่เพราะสถานการณ์ดังกล่าวนั้นไม่นิ่ง จึงทำให้หลายครั้งผู้ซื้อวืดไป ไม่สามารถซื้อของถูกจากประเทศที่กุ้งทะลักได้ต่อเนื่อง ทำให้หันมาหาของไทย และห้องเย็นไทยจึงสามารถกำหนดราคาซื้อที่สูงได้ จึงมีราคาสูงให้เห็นเป็นครั้งคราว แต่.. ไม่ได้มีต่อเนื่อง ทำให้ราคาในบ้านเราสวิงขึ้นลงสูง

               3. ภาครัฐของประเทศที่เป็นลูกค้าเล่นมาตรการต่างๆ เพื่อกีดกัด กดดัน(รัฐบาลของประเทศนั้นๆ) และกดราคา (เพื่อเอาใจภาคธุรกิจในประเทศ)โดยไหลตามน้ำกับสถานการณ์จริง แต่ไม่ได้ทำอย่างตรงไปตรงมาซึ่งกรณีนี้ หลักๆแล้ว เกี่ยวข้องกับเกมส์อำนาจโลก เป็นเรื่องการเมืองครับ จึงจะหวังความแฟร์ และแก้ด้วยแนวทางมาตรฐานไม่ได้ (หากจะแก้ต้องแก้ด้วยแนวทางกลยุทธ์ธุรกิจ) ทุกประเทศเจอต่างๆ กันไป ขึ้นอยู่กับมีอะไรให้เล่น และอยู่ในเงื่อนไขให้เล่นระดับไหน ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ไทย เจอหนักกว่าใครเพื่อนเขาหน่อย เพราะมีอะไรให้เล่นเยอะ และเป็นเป้าหมายหลักที่ถูกแย่งชิงในเกมส์ขั้วอำนาจ
               แถมอีกนิด สุดท้าย เมื่อเราตกผลึกไม่เลือกเข้าข้างโลกของคนที่เป็นลูกค้า ค้าขายกับนาย ก แต่ไปเอียงเข้าแก๊งนาย ข ที่เป็นศัตรูนาย ก สินค้าส่งขายนาย ก ก็แน่นอนว่าต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่อย่างที่เป็นอยู่

               4. ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทุกประเทศประสบ ไม่ใช่พบแต่ในประเทศไทย ถามว่าประเทศอื่นๆ จะอยู่กันได้ไหม???
               ขอตอบอย่างนี้ครับ สถานการณ์คล้ายไทยในอดีต คือ มีคนออกจากอุตสาหกรรมไปเรื่อยๆ ใครปรับตัวได้ พัฒนาเทคนิค คุมต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพได้ ก็พอจะประคองตัวอยู่รอด แต่จำนวนรายเกษตรกรในแต่ละประเทศลดลงไม่ต่างกับไทยในอดีตที่ลดลงไปกว่าครึ่ง และอนาคต ทุกประเทศปรับตามเรามาแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเปลี่ยนไปหาธุรกิจอื่น ห้องเย็นจะมีขนาดเล็กลง จุดต่างก็จะมีที่บางประเทศ มาตรการภาครัฐออกมาค่อนข้างเอื้อ ต่อธุรกิจภายในประเทศ และผลกระทบจากภาวะภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในดินแดนนั้นๆ ต่างกันออกไป

               5. ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ ช่วงที่อีเอ็มเอสรุนแรง หลายประเทศบูมการผลิต เจอโรคชุก ตลาดก็นิยมไซส์เล็ก นำมาซึ่งปัญหาการใช้ลูกกุ้งที่เพิ่มขึ้นมหาศาล (มากกว่า 3 เท่า)
อย่าลืมว่า หลักๆ แล้วแม่พันธ์กุ้งขาวต้องผ่านกระบวนการเตรียมหลายรุ่นกว่าจะใช้เป็นแม่กุ้งเลี้ยงในบ่อได้จริง การใช้ลูกกุ้งมหาศาล เท่ากับใช้แม่มหาศาลด้วยจริงๆ แล้วผู้ผลิต มีไม่พอ ทำไม่ทัน ถึงทันก็รักษาคุณภาพไม่ได้เหมือนตอนปกติ สุดท้ายส่งผลมาที่คุณภาพลูกกุ้งด้วย นี่คือที่ผู้เลี้ยงกำลังได้รับผลกระทบอยู่  ต้นปีที่ผ่านมา ลูกกุ้งในบางประเทศ ตายคาแฮทเชอรี่ ไม่ผ่านเป็นพี เสียหายค่อนประเทศให้เห็นอยู่ครับ ไม่นับที่ผ่านมา ที่ลงบ่อไปแล้วร่วงหาย เลี้ยงแน่นไม่ได้ โตไม่เสมอ แพ้อากาศร่วง มีให้เห็นกันทุกประเทศครับ

               6. สมมุติว่าถ้าปีนี้ปัญหาการเลี้ยงรุนแรงขึ้นในทุกประเทศ จนกุ้งขาดตลาด สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ราคากุ้งจะปรับตัวสูงขึ้น จนเมื่อราคาปากบ่อไซส์ร้อยเกิน 155 บาท ผู้ซื้อ ผู้กิน จะเริ่มรับราคาไม่ได้ (ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการจนไปถึงผู้บริโภคปลายทางจะสูงขึ้นไปอีก เช่น 350 บาทต่อกิโล เป็นต้น) ก็จะเปลี่ยนประเภทโปรตีนที่จะบริโภคหันไปหาอาหารโปรตีนชนิดอื่น แรงซื้อก็จะลดลงมาก ราคาก็จะตกลงอีก สมมุติว่าตกลงมาเหลือ 100 บาทต่อกิโล ผู้กินก็จะเริ่มปรับกับมาซื้อกินอีก แล้วค่อยๆ ฉุดราคากลับมา
แต่คำถามสำคัญคือ ผู้ผลิต จะอยู่รอดได้ถึงวันนั้นหรือเปล่า???  เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ต้นทุนการผลิตกุ้งในทุกประเทศที่ผมสำรวจมา วิ่งอยู่ระหว่าง 125-140 บาท นั่นแปลว่า ราคาที่เหมาะสม หรือจุดสมดุลราคาที่จะทำให้ธุรกิจกุ้งอยู่ได้นานอีกหน่อยคือ ราคาที่คนเลี้ยงยังได้กำไร และเป็นราคาที่คนกินยังกินไหว ตามที่ผมประเมินส่วนตัวคือ ไซส์ร้อย ราคาอยู่ที่ 140-155 บาท

               7. แต่ ราคาจะต้องนิ่งมากพอที่จะทำให้ไม่เกิดช่วงได้เปรียบเสียเปรียบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ราคาควรแกว่งตัวในแต่ละไซส์ไม่เกิน 10 บาทในรอบปี   ซึ่งการจะเป็นอย่างนี้ได้ ต้องมีการตกลงประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้เลี้ยง ผู้แปรรูป และผู้ค้าส่งที่ปลายทาง  กระบวนการนี้คือกระบวนการที่รัฐบาลเวียดนามพยายามดำเนินการอยู่ แม้จะยังไม่สำเร็จ แต่หากสำเร็จ เป้าการเป็นฮับกุ้งของเขาก็ถือว่าบรรลุ อยู่ได้กันทั้งองคาพยพ     รอดูครับว่าเขาจะทำได้ไหม หรือเราจะเปิดใจเริ่มทำกันก่อนดี ว่าไปแล้ว เราก็มีความพร้อมนะครับ เหลือแค่เรื่องเดียว คือ เปิดใจประสานความร่วมมือ

               8. ต้องยอมรับก่อนครับ ว่าแต่ละคนแต่ละกลุ่ม มีความพร้อม ความรู้ ความถนัด แตกต่างกัน ขอพูดตรงๆ ห้องเย็นจะมาเลี้ยงแข่งกับผู้เลี้ยง ทำสำเร็จได้ยาก ผู้เลี้ยงจะค้าขายแข่งกับห้องเย็น ก็ไม่เท่าทันพ่อค้าที่เราค้าขายด้วย
               ทางออกที่ดีที่สุด คือ หันหน้าเข้าหากัน เจรจาต่อรอง แบ่งงานกันทำตามความถนัด กำหนดเงื่อนไข ที่เอื้อต่อกันทั้งสองฝ่ายให้จบ แล้วเดินตามนั้นอย่างเคร่งครัด จะมีฝ่ายใดเสียเปรียบบ้างเพียงเล็กน้อย ขอให้ทำใจยอมรับกันไป หากยังพอรับไหว เพราะหากไม่เลือกทางนี้ ปล่อยต่างคนต่างเดิน เห็นเค้าลางอนาคตเลยครับ ว่าอาชีพนี้จะมีอายุสั้น
               9. ในความเป็นจริง ห้องเย็นส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ชอบกุ้งราคาถูกหรอกครับ เพราะราคาวันนี้ถูกประกาศเป็นที่รู้กันทั่ว ผู้ซื้อในต่างประเทศรู้ราคาปากบ่อก่อนห้องเย็นในบ้านเราเสียอีก ไม่ว่าจะราคาถูกหรือแพง หากนิ่ง ห้องเย็นจะได้กำไรเท่าเดิม แต่หากราคาแกว่ง แผนการผลิตเขาจะผิดพลาดและขาดทุนครับ  วันนี้ในภาคส่วนของผู้แปรรูปไทยนั้นเหลือผู้เล่นน้อยมาก ปีที่แล้วขาดทุนต่อเนื่อง และถือได้ว่าอยู่ในภาวะวิกฤติแล้วเต็มตัว อนาคต ส่วนนี้จะกลายเป็นคอขวดสำคัญ มีผลผลิตกุ้งเท่าไหร่ ไม่ว่ามากหรือน้อย ก็ไม่รู้จะขายไปที่ไหน ขายใคร ห้องเย็นแปรรูปกุ้งในไทยจำนวนมากตัดสินใจเลิกกิจการไปแล้วและไม่กลับมาทำอีก เราเหลือผู้ซื้อน้อยมาก ท่านอาจมองว่าจะทำให้เขามีอำนาจต่อรองมาก เล่นเกมส์ได้มาก แต่เกมส์ที่เล่นแล้ว เสียหายทั้งคู่ ผมว่าไม่มีใครอยากเล่นหรอกครับ และเราในมุมผู้เลี้ยงก็คงไม่ปล่อยให้เขาเล่น เมื่อมีแนวโน้มอาจเป็นศัตรู ไม่สู้จับมือคว้ามาเป็นพวก อยากวอนให้ทุกท่านเปิดใจมองภาพในส่วนนี้ดีๆ อีกครั้ง อย่าเพิ่งสะใจที่เขาเสียหาย เพราะถ้าเขาตายเราตายด้วย มาจับมือประคองเดินร่วมกันไปดีกว่าครับ
               จริงอยู่ว่าในกลุ่มห้องเย็น ก้อมีความต่างกัน เป็นกลุ่มๆ เราสามารถกำหนดกลยุทธ์บริหารห้องเย็นตามลักษณะของเขากันได้ จริงๆ เรามีพลังอยู่ในมือ มีอำนาจต่อรองสูง เหลือแต่ใช้มันอย่างถูกทางและมีประสิทธิภาพเท่านั้นครับ

               10. เรื่องราคาอาหาร เท่าที่ผมสำรวจมา ในต่างประเทศวิ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 42-49 บาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าของเราอยู่ มองมุมหนึ่ง ถือว่าดี เพราะต้นทุนเราถูกว่า อันนี้เราได้อานิสงค์จากการควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์
               แต่ในอีกด้านก็เป็นการสร้างปัญหาให้ผู้ผลิตที่จำเป็นต้องคุมต้นทุน สุดท้ายอาจมีโอกาสส่งผลกระทบมาสู่เกษตรกรผู้ใช้ได้ในที่สุด ทางที่ดี อนุญาตให้ราคาอาหารปรับขึ้นตามสถานการณ์ต้นทุนจริง แต่ให้คุณภาพอาหารได้มาเต็มที่น่าจะเป็นประโยชน์กว่า
ทางออก ผู้เลี้ยงล่ะครับ ที่จะดำเนินการในส่วนนี้ได้ คงจะน่ารักไม่น้อย หากเรากลุ่มผู้เลี้ยงยื่นเรื่องกระทรวงขอให้ปรับราคาอาหารขึ้นอีก10% แต่ต่อรองด้วยการตรวจสอบคุณภาพอาหารให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่เราตั้งไว้
              ตอนนี้ในหลายประเทศ ที่มีผู้ผลิตอาหารมากรายและต้องแข่งขันราคา ผู้เลี้ยงมีปัญหาอาหารด้อยคุณภาพ นำมาซึ่งปัญหาการเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นน้ำเน่าน้ำเสีย หรือแม้แต่สงสัยกันถึงว่า กากถั่วป่นคือต้นเหตุของอีเอ็มเอสกับอีเอชพีกันเลยทีเดียว

               11. ขออภัยสำหรับความยาวครับ ขอจบแค่นี้ เกรงท่านจะเบื่อกันเสียก่อน
ปล....
ทราบดีครับว่า เขียนเรื่องนี้โพสท์ลงจบ ต้องมีคอมเมนท์มากมาย แต่ในฐานะที่อาศัยกินอยู่กับอุตสาหกรรมนี้ หากไม่กล้าตอบแทนบุญคุณอุตสาหกรรมด้วยการหาข้อมูลจริงในบริบทที่หลากหลายมานำเสนอ และคุยกันตรงไปตรงมา ผมก็คงละอายแก่ใจตนเอง จึงใคร่กราบขออภัยมา ณ โอกาสนี้หากอ่านแล้วไม่ต้องไม่ตรงใจท่านผู้อ่าน แค่อยากให้เห็นภาพรวม และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านบ้าง บางสิ่งบางอย่าง ผมอาจด้อย รู้น้อย เข้าใจคลาดเคลื่อน ขอได้โปรดเมตตาอย่าเพิ่งติด่า เปลี่ยนมาเป็นให้คำชี้แนะจะขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
ขอให้เลี้ยงกุ้งได้ กำไรดี มีความสุข ทุกท่านครับ

ด้วยความเคารพ
สรพัศ ปณกร Technical support manager @โนโวไซม์ ไบโอโลจิคอล (ผู้ผลิต พอนด์พลัส พอนด์ดีท็อกซ์ พลัสเท็น) /อุปนายกสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย


cr. Facebook : Soraphat Panakorn





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น