3/4/60

มาตรา 9 ตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาสวล. 2535 ตอนที่ 4


03-04-2017

สวัสดีครับ  เพื่อนๆชาวนากุ้งทุกท่าน

                วันนี้ก็ยังคุยกันต่อเรื่องมาตรา 9 นะครับ ไม่น่าเชื่อว่าจะกลายเป็นหนังซี่รี่ส์ได้ ผมจะค่อยๆลำดับเหตุการณ์อย่างช้าๆ ไปด้วยกัน วันนี้ผมขอยกทั้งหมดมาจาก Facebook กุ้งไทย "นสพ.กุ้งไทย" จากการประชุม สัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “แนวทางแก้ปัญหาการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด” เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2558 ที่ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ มานำเสนอนะครับ

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป และ สถานที่ในร่ม




























มีเนื้อหาพอสรุปได้ดังนี้

             เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรมประมง ได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด” เพื่อรับฟังความคิดเห็นรวมไปถึงจัดทำแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งขาว เกษตรกรผู้เพาะปลูกในบริเวณใกล้เคียงฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ในงานมีทั้งนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรกรด้านการเพาะปลูก กรมประมง และผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมกว่า 300 คน โดยกรมประมงคาดหวังปัญหาประเด็นมาตรา 9 จะคลี่คลายหาทางออก ให้กับทุกฝ่ายได้โดยเร็ว

                     ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากกรณีที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับผลกระทบจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 6/2553 เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เพื่อระงับการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตกรุงเทพมหานคร และในเขตท้องที่จังหวัดนั้น โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 และวันที่ 14 มีนาคม 2554 มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศที่คำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การกำหนดเขตพื้นที่น้ำจืดใหม่ และจัดเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบและมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว อีกทั้งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งขาวในเขตพื้นที่น้ำจืด ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้พิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากกรณีดังกล่าว เพราะขณะนี้จากข้อมูลในเบื้องต้นมีจำนวนเกษตรกร จำนวน 6,381 ราย และพื้นที่เลี้ยงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ จำนวน 91,626 ไร่

                          ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และจัดเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบและการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการด้านผลกระทบของการใช้ความเค็มต่อสิ่งแวดล้อมมาสนับสนุนอย่างชัดเจน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการระงับการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด อีกทั้ง การจะใช้เกณฑ์พื้นที่น้ำจืดเดิมที่เคยบังคับใช้กับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาใช้ในกรณีนี้จึงสร้างความไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ทำให้เกิดปัญหาทางการปกครองตามมา และที่สำคัญการประกาศระงับใช้ความเค็มฯ จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในภาพรวมของอุตสาหกรรมกุ้งไทย ไม่ต่ำกว่า 14,000 ล้านบาท/ปี ทั้งในเรื่องของการขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูป และไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งอาจทำให้ราคากุ้งที่จำหน่ายมีราคาแพงขึ้นด้วย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการจัดทำมาตรการเยียวยา จึงต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดการตกผลึกในประเด็นดังกล่าวนี้

                            ด้วยเหตุนี้เอง นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สั่งการให้กรมประมงเร่งหาทางยุติปัญหานี้โดยด่วน ดังนั้น จึงได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด” ขึ้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยภายในงานมีการ “อภิปรายผลการศึกษาผลกระทบจากการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด” จากอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ และไฮไลท์สำคัญ คือ การอภิปรายแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมประมง และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรกรด้านการเพาะปลูก รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด


กรมประมง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ จะสามารถหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด สามารถยุติปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจอันดีและเป็นไปในทิศทางเดียวกันระหว่างเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งขาวและเกษตรกร ผู้เพาะปลูกในบริเวณใกล้เคียงฟาร์มเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้ำจืด



Cr. Facebook กุ้งไทย "นสพ.กุ้งไทย"

ส่วนข้อสรุปหลังจากนี้เป็นยังไง จะติดตามมาให้รับทราบกันต่อไปครับ









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น