7/4/60

FDA ห้ามใช้ Triclosan

07-04-2017

สวัสดีครับ เพื่อนๆชาวนากุ้งทุกท่าน

                 วันนี้ของนำข่าวจาก นสพ.มติชน เรื่อง FDA ห้ามใช้ สารTriclosan ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ 18 ชนิดในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้แล้ว ลองอ่านรายละเอียดดูนะครับ
   
          ขออธิบายว่า ไตรโคลซาน(Triclosan) กับ ไคโตซาน (Chitosan) คนละตัวกันนะครับ อย่าสับสนนะครับ

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา รายงานว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ออกคำสั่งห้ามใช้สาร “ไตรโครซาน”(Triclosan) ในผลิตภัณฑ์สบู่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งส่วนผสมต่างๆ อีก 18 ชนิด ที่มักจะถูกใช้ในสบู่ประเภทนี้ โดยมีผลบังคับใช้ทั่วสหรัฐฯตั้งแต่เดือนกันยายน 2560

ทั้งนี้ FDA ให้เหตุผลว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่า สบู่ที่ผสมสารเคมีเหล่านี้ มีประสิทธิภาพดีกว่าสบู่ธรรมดาหรือน้ำเปล่า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการหลายรายรวมทั้งรายใหญ่ เช่น พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เริ่มหยุดใช้ส่วนผสมนี้ในผลิตภัณฑ์บางชนิดแล้ว

ไตรโครซาน คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่มักใช้ในการผลิตสบู่ประเภทต้านเชื้อแบคทีเรีย และบางครั้งใช้ผสมในยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เครื่องสำอาง น้ำยาซักผ้า กระดาษทิชชู เสื้อผ้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพอีกมากมายหลายชนิด ดังนั้นสารไตรโครซานที่ดูดซึมผ่านผิวหนังหรือทางช่องปากจะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน มีรายงานหลายฉบับที่ชี้ว่า สารไตรโครซานอาจทำให้เกิดอาการแพ้ตามผิวหนัง ทำให้ต่อมฮอร์โมนทำงานผิดปกติ กล้ามเนื้อผิดปกติ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และระบบการเจริญพันธุ์มีปัญหา ตลอดจนอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

“ ผู้ประกอบการไทยควรตระหนักถึงผลกระทบและหลีกเลี่ยงการผสมสารไตรโคซานในสินค้าด้วย ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายเท่านั้นที่อาจมีสารไตรโครซานเป็นส่วนผสม แต่ยังรวมถึงที่นอน ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าอื่นๆ ที่ติดป้ายต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากมักมีการใช้สารไตรโครซานในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ งานวิจัยบางชิ้น ระบุด้วยว่าสารไตรโครซานที่ลงสู่ท่อระบายน้ำออกไปสู่ทะเล ยังทำลายแบคทีเรียในระบบนิเวศน์ ทำลายห่วงโซ่อาหาร และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมทางทะเลเสียหายด้วย” นางมาลี กล่าว





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น